“มันไม่ถึงขั้นว่าเราจะต้องเป็นคนแตกต่างในการที่เลือกทำหนังกระแสรอง เรายังอยากจะสื่อสารกับคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพราะฉะนั้นหนังของเรามันก็ไม่ถึงขั้นจะดูยากมากแต่ก็ไม่ได้ดูง่ายมากเช่นกัน”
คำพูดจาก People ของเราที่ทีมงาน Lookbook ยังจำได้ติดหู ถือว่าครั้งนี้เป็นความพิเศษสุด ๆ ของ Lookbook เพราะเราได้มีโอกาสยกแก็งค์บุกไปสัมภาษณ์เขาคนนี้ถึงที่ กับชายผู้มีรสนิยมเล็ก ๆ ที่ไม่เหมือนใคร แต่เขาสามารถทำให้คนที่มีรสนิยมทั่วไปอย่างเรา ๆ รู้จักถึงเสน่ห์ในรสนิยมเล็ก ๆ ของเขามากขึ้น กับผู้ชายที่มีชื่อว่า เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังกระแสรองที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในตอนนี้
หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหูกับคำว่าหนังกระแสรองหรือหนังอินดี้เท่าไหร่ แต่ถ้าถามใหม่ว่า รู้จักหนังเรื่อง Mary is happy Mary is happy ไหม ? ทุกคนคงร้อง อ๋อ! ขึ่นมาทันที ด้วยความคิดแนวใหม่ทีสามารถหาจุดกึ่งกลางระหว่างความเป็นหนังอินดี้และหนังแมส(หนังกระแสหลักทั่วไป) ทำให้คนทุกเพศ ทุกวัย รู้จักกับหนังกระแสรองของ เต๋อ นวพล โดยเฉพาะวัยรุ่นเรียกได้ว่าโดนใจไปเต็ม ๆ ทั้งเนื้อเรื่องที่ใหม่ การเล่าเรื่องที่แปลก หรือจะเป็นการ PR ที่เข้าถึงสุด ๆ ต้องบอกเลยว่ายุคนี้คือยุคของวัยรุ่นกับหนังของหนุ่มตี๋ใส่แว่นคนนี้จริง ๆ
อยากให้พี่เต๋อช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นในวงการภาพยนตร์ของพี่ให้พวกเราฟังหน่อยค่ะ
จุดเริ่มต้นหรอ …. จริง ๆ เราอยากทำหนังมาตั้งแต่เราอยู่มัธยมปลายแล้ว แต่เมื่อก่อนวงการภาพยนตร์มันไม่ได้เปิดกว้างขนาดนี้ ทั้งเรื่องของความยาก รวมถึงเศรษฐกิจที่มันไม่ดีด้วยเราก็เลยเลือกไปเรียนทางด้านอักษรฯ ก่อน แต่เราก็เริ่มทำหนังเองตั้งแต่ตอนเรียนที่คณะมาเรื่อย ๆ จนถึงเรียนจบก็ยังทำอยู่ ทำส่งประกวดได้รางวัลบ้างไม่ได้บ้าง จนมาถึงช่วงที่เราได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานที่ GTH ตอนแรกเราไปฝึกในตำแหน่งตัดต่อก่อน แต่มันมีความโชคดีตรงที่พอเขาเห็นพอทฯ ของเราแล้วเขาจำงานเราได้ ก็เลยชักชวนให้เราไปเขียนบทแล้วก็มีโอกาสเขียนบทหนัง เรื่อง รถไฟฟ้าฯ วัยรุ่นพันล้าน รักเจ็ดปีฯ มาเรื่อย ๆ
เห็นว่าพี่เต๋อจบทางด้านอักษรฯ เราเลยอยากรู้ว่าการเรียนคณะอักษรมันช่วยอะไรในการทำงานวงการนี้ไหม
ส่วนตัวเราคิดว่าการเรียนอักษรฯ มันช่วยได้มากในเรื่องของการเขียนบทนะ เพราะบทภาพยนตร์มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคน แล้วการเรียนอักษรฯ มันก็เรียนเกี่ยวกับคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา ประวัติศาสตร์ มันเกี่ยวกับคนทั้งนั้น ในเรื่องวิธีคิด วิธีมองคนเราคิดว่าได้มาจากการเรียนอักษรเต็ม ๆ
ในฐานะที่พี่เต๋อเป็นผู้กำกับหนังกระแสรอง เราอยากรู้ว่าคำว่าหนังกระแสรองในความคิดของพี่เต๋อ เป็นอย่างไร ?
คนชอบเข้าใจว่าหนังกระแสรองมันต้องเป็นหนังที่ดูยาก แต่จริง ๆ มันก็เป็นแค่หนังที่ทำนอกสตูดิโอเท่านั้นล่ะ ใช้ทุนน้อยกว่า ฉายในโรงที่น้อยกว่า เราว่ามันเป็นเรื่องของรูปแบบการสร้างและการฉายเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของหนัง ที่จริงหนังกระแสรองมันก็มีเลเวลตั้งแต่ที่เป็นแบบศิลปะเพียว ๆ แบบอาร์ตไปเลย ไปถึงเล่าเรื่องเหมือนหนังทั่ว ๆ ไป เรื่องที่ดูง่าย ๆ มันก็มีหลายเรื่องนะ เพียงแต่หนังแบบนี้มันจะเล่าเรื่องที่คนทั่วไปไม่ได้สนใจขนาดนั้น แบบหนังเกี่ยวกับชาวประมงถ้าไปเทียบกับหนังที่เกี่ยวกับสาวออฟฟิศคนก็ต้องสนใจสาวออฟฟิศมากกว่าใช่ไหมล่ะ มันก็แค่นั้นไม่ได้ต่างกันมาก
พี่เต๋อก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ GTH แต่ทำไมพี่เต๋อถึงเลือกที่จะกำกับหนังกระแสรอง แทนที่จะเป็นหนังกระแสหลัก
เราว่ามันไม่ถึงกับเลือกนะ มันแค่สนใจมากกว่า เราคิดว่ารสนิยมของคนเรามันไม่เหมือนกัน เราแค่มีรสนิยมที่เล็กหน่อยเท่านั้น มันไม่ถึงขั้นว่าเราจะต้องเป็นคนที่แตกต่าง แบบติสมากไปเลย โดยส่วนตัวเราก็ยังอยากทำหนังกึ่ง ๆ พาณิชย์ ยังอยากสื่อสารกับคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราคิดว่าหนังของเรามันก็ไม่ถึงขั้นดูยากมาก แต่มันก็ไม่ได้ดูง่ายมากเหมือนกัน เราว่าไม่ว่าหนังเรื่องไหนถ้าคนดูดูแล้วมันไม่ชอบ มันก็คือไม่ชอบ แต่ตัวเราเองเวลาทำหนังไม่เคยโทษคนดูนะว่า เห้ย คุณดูหนังเป็นหรือเปล่า ? เราคิดว่าอาจจะเป็นที่ตัวเราเอง เราคงเลือกเรื่องที่คนไม่ได้สนใจ หรืออาจจะเล่าเรื่องห่วย เล่าไม่รู้เรื่องเองก็ได้ ก็คิดว่าถ้าโชคดีหนังที่เราทำมีคนเข้าถึง มีคนชอบมันมากหน่อยก็ดีไป แต่ถ้ามันน้อยหน่อยก็ไว้คราวหน้าเอาใหม่ละกัน
นอกจากพี่เต๋อจะกำกับหนังกระแสรองแล้ว ยังเขียนบทให้กับหนังกระแสหลักอีกหลายเรื่อง ในความคิดของพี่หนังสองแบบนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วเคยรู้สึกสับสนในการเป็นคนกลางที่ทำงานทั้งสองทางบ้างหรือเปล่า
มันต่างการตรงที่วิธีการเล่าเรื่อง ระหว่างเล่าให้คนจำนวนน้อยกับจำนวนมาก ๆ ฟังวิธีการเล่าเรื่องมันต้องไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่าสับสนไหม มันก็แค่ช่วงแรก ๆ แต่มันไม่ถึงขั้นสับสนขนาดนั้นมันแค่รู้สึกว่าเราจะทำได้ทั้งสองแบบเลยจริงไหม ? เหมือนเราเริ่มจากหนังกระแสรองก่อนเราเลยคิดว่าเราจะทำหนังกระแสหลักได้หรือเปล่า อารมณ์เหมือนปกติเคยแต่เตะบอลหน้าบ้านแล้วอยู่ ๆ เราจะไปเตะบอลโลกได้ไหม มันเป็นความรู้สึกที่เราไม่มั่นใจในตัวเองเพราะเราไม่เคยทำมาก่อน แรก ๆ มันก็ไม่ค่อยถนัดหรอก เพราะอย่างที่บอกว่าการเล่าเรื่องให้ 4 คน กับ 400 คนฟังมันไม่เหมือนกัน ช่วงแรก ๆ ก็มีอาการเล่าแล้วคนดูไม่เข้าใจ เข้าใจแค่บางคน ต้องพยายามว่าจะทำยังไงให้เขาเข้าใจ พอเราได้มาฝึกงานที่ GTH เราก็ค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการมากขึ้น แต่สุดท้ายการจะทำหนังแบบไหนเราว่ามันแล้วแต่เรื่อง ถ้าเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ควรทำกระแสรองก็ทำกระแสรอง เรื่องไหนควรทำกระแสหลักก็กระแสหลัก มันไม่ใด้แบบว่าฉันทำแนวนี้ฉันก็จะทำแนวนี้ตลอดไป
การทำหนังกระแสหลักในมุมมองของพี่เต๋อมีอะไรที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าหนังกระแสรองบ้างไหม
คนมันเยอะกว่า เอาง่าย ๆ อย่างเนื้อเรื่องต้องคำนึงว่ามันเป็นเรื่องที่คนหมู่มากสนใจขนาดนั้นหรือเปล่า หรือวิธีการเล่า เราเล่ายากไปไหม เพราะว่าคนทั่วไปที่ดูหนังไม่ใช่ทุกคนที่เรียนเกี่ยวกับหนัง เขาก็จะดูแบบปกติทั่วไป เราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนดูเป็นแบบนี้แล้วก็ต้องเรียนรู้วิธีการทำหนังให้เข้าถึงเขา แต่มันไม่ใช่การที่ทำหนังง่าย ๆ ป้อนให้เขาดูไปเรื่อย ๆ เราต้องรู้จักแอบใส่อะไรที่มันยาก ๆ ให้เขาหน่อยก็ดี เขาดูแล้วจะได้รู้สึกว่ามันแปลกขึ้นแต่มันก็ยังดูแล้วสนุกได้ ส่วนตัวเราคิดว่าแบบนี้มันทำยากนะ เพราะมันต้องคำนึงถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง จะทำยังไงให้เขาเข้าใจสิ่งที่เราต้องการเล่า ให้คนดูอินเท่า ๆ กัน หรือสามารถเข้าถึงหนังของเราได้ทุกคน
เมื่อก่อน หนังกระแสรองไม่เป็นที่รู้จักเท่าไร แต่หลายคนพูดว่าหนังกระแสรองในแบบพี่เต๋อทำให้คนรู้จักและหันมาดูกันมากขึ้น พี่เต๋อคิดว่าเป็นเพราะอะไร
ต้องบอกก่อนว่าที่จริงแล้วหนังอินดี้หรือหนังกระแสรองมันมีมานานมากแล้วนะ ตั้งแต่สมัยเราอยู่มัฐยมปลาย เพียงแต่ในสมัยก่อนหนังแนวนี้มันจะเป็นแบบศิลปะมาก ๆ ไม่มีความบันเทิงเลย แต่ว่ามันก็ดูสนุกในแบบของมันนะ มันอาจจะดูแล้วหลับเพราะบางเรื่องไม่ได้ทำมาเพื่อจะเล่าเรื่องแต่ทำเพื่อจะทดลองบางอย่างทางศิลปะ ที่จริงคนที่ทำให้มันดูง่ายมันก็มีนะ เพียงแต่บ้านเราเมื่อก่อนคนทำหนังแนวนี้มันมีน้อยแล้วคนที่ทำก็สนใจในด้านศิลปะหมด มันทำให้หนังแบบอื่น ๆ ในแนวอินดี้ไม่ได้ถูกทำขึ้น แต่พอเวลาผ่านไปมันก็มีคนทำหนังแนวนี้มากขึ้นหนังอินดี้มันเลยไม่เหมือนสมัยก่อน
ส่วนตัวเราว่าหนังเรามันก็ไม่ได้ดีไปกว่าหนังของคนอื่นหรอก เพียงแต่หนังของเรามันเชื่อมถึงคนดูได้มากขึ้น หมายถึงว่า เมื่อก่อนการทำหนังแนวนี้ออกมามันก็ไม่รู้ว่าจะประชาสัมพันธ์ยังไง อารมณ์เหมือนคุณอยากดูก็มาดูเอง เป็นไปได้ว่าเมื่อก่อนมันติดต่อกับโรงฉายยากด้วย แต่ยุคนี้เรื่องของการติดต่อกับโรงฉายมันง่ายขึ้น ตอนที่เราทำเรื่อง 36 กับ Mary is happy Mary is happy เราก็ประชาสัมพันธ์เต็มที่ เราคิดว่าในประเทศไทยวงการศิลปะกับคนทั่วไปมันไกลกันมาก เราเลยรู้สึกว่าทำยังไงก็ได้ให้มันเข้ามาใกล้ที่สุด ทำหนังมาแต่ไม่ได้ประชาสัมพันธ์แล้วใครจะมาดูหนังเรา ถึงหนังเราจะเป็นหนังนอกกระแสแต่เราใช้การประชาสัมพันธ์เหมือนหนังกระแสหลักเลย มีทั้งเพลง โปสเตอร์ เทรลเลอร์ ที่ดูแล้วเข้าใจ แรก ๆ เราก็ถูกมองนะ ว่าแบบนวพลโปรโมตแบบพาณิชย์มาก ๆ แต่ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็มีแต่คนคอมเม้นท์ทั้งนั้นล่ะ เราเลยรู้สึกว่า ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ก็ทำไปเถอะ ทำไปในแบบที่มันควรจะทำ
ผลงานที่สร้างชื่อ และสร้างความประทับใจให้กับพี่มากที่สุดคือ
เราว่าชิ้นแรก ๆ ที่ทำให้คนรู้จักเราคือ เมธาวี เรื่องนี้เราคิดว่าเราขยับเข้าหาคนดูเยอะมากแต่ยังคงขยับในแบบที่เป็นหนังของเราอยู่ และคนดูก็พูดถึงเรื่องนี้เยอะเช่นกัน ตัวเรากลับไปดูเรื่องนี้อีกทีเราก็คิดว่ามันยังโอเคนะถึงดูยุคนี้มันก็ยังดูไม่เก่า ไม่ค่อยดูเหมือนหนังสมัยก่อนเท่าไหร่ แล้วมันก็มีเทคนิค และวิธีการถ่ายภาพที่เราชอบใช้อยู่ มันมีครบทุกอย่างที่มันมีผลต่องานปัจจุบันของเรา เราคิดว่าเราเจอทางของเราจากงานชิ้นนี้ ตอนนั้นถือว่าเราโชคดีด้วยที่เราอยู่ในโปรเจคที่เขายอมให้เราทำหนังแบบนี้ คือถ้าย้อนไปช่วง 3 ปี ก่อน การทำหนังแบบนี้ถือว่าค่อนข้างอันตรายมากนะ แล้วเรื่องนี้ก็ฉายทางทีวีด้วยไม่ได้ฉายทางโรงภาพยนตร์มันเลยมีความเป็นหนังที่สูงมากและเสี่ยงมากเช่นกัน แล้วเราก็โชคดีอีกอย่างที่พอทำไปแล้วคนดูเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อ เด็ก ๆ ดูแล้วอิน ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เล่าเรื่องในแบบปกติ
แล้วเรื่อง เมธาวี พี่เต๋อได้แรงบันดาลใจมาจากไหนค่ะ
เริ่มจากที่เราอยากทำหนังวัยรุ่นแต่เรายังไม่เคยทำมาก่อน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแรก ที่จริงโจทย์มันมีแค่นิดเดียวมันคือหนังบันทึกกรรม ส่วนมากก็จะเป็นแนวบาปบุญ แต่เราเองไม่ได้ทำแนวบาปบุญขนาดนั้น ไม่ใช่แนวผี ๆ แบบที่เราเคยดู ๆ กัน แต่จะเป็นเรื่องของคนมากกว่า เมธาวีเป็นเรื่องที่ 3 ของซีรี่ย์ชุดนี้ 2 เรื่องแรกจะออกแนวดาร์ก ๆ หน่อย แต่เมธาวีอยากทำให้เป็นเรื่องของคนดี เพราะปกติหนังเกี่ยวกับกรรมเวรบาปบุญเราจะเจอแต่เรื่องของคนไม่ดี เลยอยากลองพลิกกลับเป็นเรื่องของคนดีบ้าง ว่ามันจะสามารถมาอยู่ในซีรี่ย์นี้ได้ไหม นี้คือโจทย์ที่เขาให้เรามา เราเลยคิดว่าบางทีการเกิดมาสวย เกิดมาโอเคมันก็มีกรรมเหมือนกันนะไม่ว่าเรื่องอะไรคุณก็ต้องโดนซักอย่างอาจเป็นเพราะเหตุผลแค่ว่าคุณสวยไป ก็เลยได้คอนเซ็ปต์นี้มาบวกกับการที่เราอยากทำหนังวัยรุ่นในโรงเรียน แล้วก็เอาประสบการณ์ช่วงมัธยมของเรามาผูกเป็นเนื้อเรื่อง
ถามถึงเรื่องอุปสรรคและปัญหาในการทำงานของพี่มีอะไรบ้าง และพี่เต๋อสามารถข้ามผ่านมันมาได้อย่างไร
มันเป็นเรื่องของ ความนอยด์ มากกว่า เพราะเวลาที่เราไปออกกอง เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย เหมือนเรามีบท มีการวางแผน pre-production ไปก่อน รู้ว่าต้องถ่ายอะไรก่อนหลัง แต่พอไปถึงหน้างานจริง ๆ แล้ว เกิดฝนตก นักแสดงเล่นไม่ได้ ทำไงอะ ? คือมันจะมีเรื่องแบบนี้ทำให้เราถ่ายไม่ทัน ไม่ได้ตามที่ต้องการ มันก็เลยเกิด อาการนอยด์ว่ามันจะถ่ายได้ตามเวลาที่กำหนดหรือเปล่า อารมณ์เหมือนพอเริ่มกองก็เริ่มเคาท์ดาวน์เลย มี 12 ชม. ก็ต้องทำถ่ายให้เสร็จภายใน 12 ชม. เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเวลามันเป็นการจัดสรรเวลาในกอง เป็นเรื่องการแก้ปัญหามากกว่าไม่ถึงขั้นเรียกว่าอุปสรรคหรอก แต่มันคือเรื่องปกติในกอง ทำหนังก็ต้องเจอแบบนี้ล่ะ ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ ซึ่งมันก็ต้องอาศัยประสบการณ์เยอะเหมือนกัน ตัวเราเองตอนนี้ก็ยังไม่ค่อยมีเยอะมากก็ต้องค่อย ๆ อยู่กับมันไปเรื่อย ๆ ทุกวันนี้ก้ยังนอยด์อยู่ อย่างตอนทำเอ็มวี นักเลงคีย์บอร์ด ก็ยังมีปัญหาแบบนี้อยู่ก็ต้องแก้ปัญหากันไปมันเป็นเรื่องของการชั่งตวง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารของเราเองมากกว่า
ถ้าวันหนึ่งพี่ไม่ได้ทำหนังแล้ว พี่เคยคิดไหมว่าพี่จะไปทำอะไร
ถ้าถามตอนนี้กับเมื่อ 5 ปี ก่อนจะตอบไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเมื่อ 5 ปี ก่อนเราคงจะตอบว่าเราจะไปทำหนังสือ แต่ถ้าเป็นตอนนี้เราคิดว่าเราทำอะไรได้มากกว่าทำหนังสือ หมายถึงว่าเดี่ยวนี้รูปแบบของการสื่อสารมันแตกกระจายเป็นหลายอย่างมาก หนังก็อาจจะไม่ต้องเป็นหนังที่ปกติ หนังสือก็อาจจะไม่ต้องเป็นเล่มหรือวางขายแค่ที่ร้านหนังสือแล้วหรือเปล่า แต่โดยแกนเราคงเลือกทำอะไรที่เป็นแบบเล่าเรื่องแบบนี้ล่ะ อาจจะเขียนหรืออะไรซักอย่างเพียงแต่ว่าเราสามารถเปลี่ยนไปตามรูปแบบต่าง ๆ ได้ อย่างทำหนังแล้ว ก็ไปทำโปสเตอร์เอง ตัดเทรลเลอร์เอง ซึ่งมันก็เป็นอีกสื่อหนึ่ง เราว่าเราทำได้หลายอย่างแต่วงเล็บอาจจะไม่ดีซักอย่างก็ได้นะ ฮ่าๆๆ
ก็ไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไรต่อ มันทำได้หลาย ๆ อย่างแต่ก็คงวน ๆ อยู่แถวนี้ล่ะ คงไม่ถึงขั้นว่าเปลี่ยนไปเป็นหมออะไรแบบนั้น คงทำไม่ได้
ในฐานะที่พี่เป็นคนทำหนัง แล้วหนังเองให้อะไรกับตัวพี่บ้างในเรื่องของการดำเนินชีวิต
ในเชิงคนทำ เราว่าอันแรกเลย มันทำให้เราเข้าใจคน หมายถึงว่ายิ่งโตเรายิ่งรู้สึกว่าไม่มีกฎเกณฑ์อะไรตัดสินคนได้เลยในกระทำอย่างหนึ่งของเขา สมมติว่าเราเป็นเขาเราอาจจะทำแบบนั้นก็ได้ ถ้าเราเกิดมาแบบเขา โตมาแบบเขา เราอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ผิดก็ได้ บางทีคนเรามันก็ไม่ขาวดำเลยขนาดนั้น เราว่าหนังที่สนุกคือหนังที่ตัวละครไม่ขาวดำเลย เวลาที่เราดูเราจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ตัวละครทำ มันผิดไหม ? ทำไมเขาถึงต้องทำแบบนี้ แต่ถ้าตัวละครมันร้ายก็ร้ายเลย ดีก็ดีเลย มันก็จะเดาเนื้อเรื่องได้ การที่ตัวละครมันเป็นสีเทา ๆ เราว่ามันสนุกและอินกว่าเยอะเลย เรื่องพวกนี้มันสอนให้เรารู้สึกว่าเมื่อเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างอย่าเพิ่งรีบสรุปไป ลองมองกลับไปก่อนว่าต้นเหตุมันเกิดจากอะไร ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ บางทีเขาอาจจะโดนอะไรมาก่อนก็ได้ ทำให้เขาทนไม่ไหว ไม่มีทางเลือกเลยต้องทำแบบนี้
อีกอย่างคือ มันทำให้เรารู้จักยอมรับความเปลี่ยนแปลง อย่างที่บอกเวลาออกกองมันจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิด ไม่มีใครที่เคยได้ตามในบทที่ยึดไว้หรอก ผู้กำกับหลาย ๆ คน หรือแม้แต่ผู้กำกับฮอลลีวูดก็เจอเรื่องแบบนี้มาทั้งนั้น ถึงแม้เรามีทุนในการสร้างก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถหยุดทุกสิ่งได้ บางอย่างมันไม่ได้มันก็คือไม่ได้ มันก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมกันไป พอเราเจอเรื่องแบบนี้ในกองบ่อย ๆ มันสามารถเอามาใช้ในชีวิตเราได้ เพราะในชีวิตจริงมันก็ไม่ได้มีอะไรได้ตามที่เราคิดทุกอย่างหรอก แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นปลงไปเลย แค่รู้จักอยู่กับมันให้ได้โดยไม่ต้องร้องไห้ฟูมฟาย ไม่ต้องมาคอยนั่งถามตัวเองว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น ? ทำไมฉันไม่ทำแบบนี้ ? แล้วยังไงต่อมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เราก็ยังอยู่ที่เดิมอยู่ดีไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้ มันเหมือนว่าเราทำหนังกับชีวิตของเรามันใกล้กันมาก
อยากให้พี่เต๋อช่วยฝากถึงคนที่กำลังอยากเริ่มทำหนังของตัวเองสักเรื่อง
จริง ๆ ง่าย ๆ คือ เริ่มทำไปเลย แล้วก็ลองถูกด่าดูถ้ามันไม่เวิร์ค 555 เพราะว่าของพวกนี้ถ้าไม่ลงมือทำมัวแต่นั่งคิดมันจะไม่รู้เรื่องเลยนะ ต้องยอมลองผิดไปเลย บางทีคนเราก็กลัวการผิดพลาดจนไม่กล้าทำอะไรเลย แต่เรามองว่าความผิดพลาดของเรามันก็เป็นบทที่ 1 บทที่ 2 ต่อไปให้เราหรือเปล่า ? ทุกคนก็เคยผิดพลาดกันทั้งนั้นล่ะ ความผิดพลาดมันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้ ตัวเราเองก็เคยทำหนังที่มันห่วยและตอนนี้เราคิดว่าเราเองก็ยังไม่ได้ทำได้ดีขนาดนั้น มันก็ยังมีหลายจุดที่เรารู้สึกว่าเรื่องนี้ได้ลองแล้วมันไม่เวิร์คเอาใหม่เรื่องหน้าละกัน ถ้าให้แนะนำก็ทำเลยไม่มีอะไรมาก อ่านเยอะ ๆ ดูเยอะ ๆ รู้จักคนเยอะ ๆ เพราะหลาย ๆ คนบางทีอยากทำหนังก็ดูแต่หนัง แต่เอาจริง ๆ แล้วเวลาเราคิดงานมันไม่ได้คิดมาจากหนัง มันเป็นกระดาษขาว เพราะถ้าเราคิดมาจากหนัง หนังเราก็จะเป็นหนังของคนอื่น ถ้าอยากให้มันเป็นหนังของเราเองมันต้องมาจากการจดจำสิ่งรอบ ๆ ตัวของเราไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นแบบนี้ตัวหนังของเรามันจะมีความเป็นตัวเองมาก มันจะมีรายละเอียดรอบ ๆ ตัวที่คนอื่นไม่รู้เพราะมามาจากเรื่องที่เราเห็นมาจริง ๆ จะไม่มีทางไปเหมือนเรื่องอื่น ๆ อย่างที่บอกการจดจำรายละเอียดรอบ ๆ ตัวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องรู้จักสังเกต มันจะนำไปใช้เล่าเรื่องในหนังได้ เพราะหนังคือการเล่าเรื่องด้วยภาพ
ตอนนี้พี่เต๋อกำลังทำอะไรอยู่บ้างค่ะ จะมีผลงานหรือโปรเจคอะไรให้พวกเราติดตามบ้าง
ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะมีสารคดี น่าจะฉายในโรง ชื่อเรื่อง The master เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนขายวิดีโอชื่อพี่แว่น เขาขายวิดีโอเถื่อนในเมืองไทยประมาณ 5 ปี ก่อน เราเคยซื้อหนังร้านพี่เขาประจำสมัยอยู่มัฐยมปลาย มันเป็นเรื่องรอบ ๆ ตัวในชีวิตเรา เรารู้สึกว่าถ้าไม่ได้ร้านเขาเราคงทำหนังมาอย่างทุกวันนี้ไม่ได้ ก็เลยอย่างทำหนังเกี่ยวกับพี่เขา แต่อย่างว่าพี่เขาก็ขายของเถื่อนนะ อารมณ์มันเหมือนเขาทำเรื่องที่ไม่ถูกหรือเปล่าประมาณนั้น ต้องลองติดตามกันดู
สามารถติดตามผลงานของพี่เต๋อจากช่องทางไหนได้บ้างคะ
Facebook : Nawapol Thamrongrattanarit
Twitter : Nawapol is happy
Youtube : Nawapol Thamrongrattanarit
เป็นไงกันบ้างคะ กับมุมมองความคิดของผู้ชายคนนี้ สำหรับทีมงาน Lookbook แล้วต้องบอกว่า ประทับใจทั้งผลงาน มุมมองความคิด และความเป็นกันเอง ของเขาสุด ๆ สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่เป็นแฟนพันธ์แท้หนังกระแสรอง หรือใครที่อยากจะลองหันมาดูหนังแนวนี้อยู่ก็อย่าลืมลองหา และติดตามผลงานของ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ดูนะคะ ^^