ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น ๆ แล้วออกเดินทางไปพร้อม ๆ กับพวกเขา จากจุดเริ่มต้นเงินทุนหนังสั้น 200 บาท สู่รายการ “หนังพาไป” รายการแปลกใหม่ที่น่าจับตา
หนังพาไป คือรายการที่นำเสนอประสบการณ์อันแปลกใหม่ ในรูปแบบรายการซึ่งแตกต่างจากรายการท่องเที่ยวทั่วไป สร้างแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวแบบ แบคแพค ของใครหลาย ๆ คน วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ชาว Lookbook.Th มาทำความรู้จักกับ ทายาท เดชเสถียร (บอล) พิศาล แสงจันทร์ (ยอด) ผู้อยู่เบื้องหลังรายการ หนังพาไป
อะไรคือที่มาที่ทำให้ทั้งสองคนมาทำรายการนี้ได้ ?
บอล : จริง ๆ คือมันเริ่มจากที่เราทำหนังสั้นกันก่อน เราได้ส่งเข้าประกวดแล้วได้มีโอกาสส่งหนังสั้นของเราไปร่วมเทศกาลในต่างประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราตัดสินใจ อยากถ่ายสารคดีการเดินทางของพวกเราระหว่างการไปร่วมเทศกาลต่างๆ ให้กลับมาทำหนังยาวสักเรื่อง ทีนี้พอกลายมาเป็นหนังยาวปรากฏว่ามันไม่สามารถจะยาวได้แค่ใน 2 ชั่วโมง ประจวบเหมาะกับการเกิดทีวีไทยขึ้น หรือไทยพีบีเอสในปัจจุบัน ทีวีสาธารณะแห่งแรกของไทย ตอนนั้นเราทราบข่าวว่า ไทยพีบีเอส จะรับรายการโทรทัศน์จากผู้ผลิตรายเล็ก ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทใหญ่ จากเยาวชน คนทั่วไป เราก็เลยตัดสินใจเอาหนังที่ตั้งใจทำมาซอยเป็นตอนเล็กๆ จัดให้ดูเป็นรายการโทรทัศน์มากขึ้น แล้วลองส่งไปให้กรรมการโทรทัศน์พิจารณารายการ พิจารณาดู กระบวนการนี้ก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี จนออกมาเป็นรายการหนังพาไปใน ซีซั่นแรกขึ้นมา ชื่อว่า “หนังพาไป”
ทำไมถึงเลือกนำเสนอรายการออกมาในรูปแบบนี้คะ ?
ยอด : ที่มันออกมาในรูปแบบดูฃติดดิน จน ๆ อย่างนี้ ต้องบอกก่อนว่าเราก็ไม่ได้ตั้งใจนะ ใจจริงเราก็อยากได้แบบมีพิธีกรหน้าตาดี อยากกินหรูอยู่สบาย (หัวเราะ) แต่ว่าสมัยที่เราทำหนังสั้นไปส่งประกวด งบประมาณเราน้อยมากมันมีงบแค่นั้นจริง ๆ เพราะฉะนั้นเวลาจะทำพวกนี้ จะเอาเงินที่ไหนจ้างตากล้อง จ้างพิธีกร จ้างครีเอทีฟ จ้างโปรดิวเซอร์ มันไม่มีใช่ไหมล่ะ แต่โชคดีที่ทุกอย่างเราพอทำได้ ถึงมันจะไม่ได้เรียกว่าดีมาก แต่เราก็พอรู้ว่างานส่วนนี้มันทำยังไง ต้องใช้ความสามารถอะไรบ้าง ต้องใช้เทคนิคหรือว่าทักษะอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นรายการเราก็เลยผสมออกมาเป็นว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากเราเองทั้งหมด เป็นพิธีกรเอง เขียนบทเอง ดำเนินเรื่องเอง ถ่ายเอง ตัดต่อเองทุกอย่าง คือรูปแบบรายการเนี้ยมันเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะว่ามันเป็นการแก้ปัญหาจากโจทย์ที่เราอยากได้แล้วมันก็ค่อย ๆ พัฒนาเรื่อย ๆ ก็เลยลงตัวลงล็อคมาแบบนี้ ว่าเออ ใช้วิธีถือกล้องถ่ายกันเองผลมันก็เลยกลายเป็นว่า คนดูก็จะรู้สึกโอ๊ย ดูติดดินจังเลย ดูธรรมชาติจังเลย ก็เพราะว่ามันเป็นการแก้ปัญหาเป็นหลัก มันออยู่แค่นี้จริงๆ
ในฐานะคนผลิตรายการเราอยากให้คนดูได้อะไรจากการดูรายการ “หนังพาไป” ของเราบ้าง
ยอด : ไม่ได้อยากให้ได้ อยากให้ดู ฮ่าๆ
บอล : จริง ๆ ตอนทำครั้งแรกเนี่ย มาจากเราอยากแบ่งปันประสบการณ์ตัวเอง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยคิดว่าการไปเที่ยวต่างประเทศ ด้วยวิธีการแบคแพคเนี่ยมันจะสนุกได้ขนาดนี้ และคิดว่าในหน้าจอโทรทัศน์ไม่มีประสบการณ์แบบนี้ที่เสนอให้ผู้ชมเลย จะเห็นก็แต่รายการที่ไปก็ต้องไปกินของที่ดีที่สุดในเมืองนั้น ไปอยู่ที่พักดี ๆ ไปเที่ยวที่มันดีที่สุด เจ๋งที่สุด ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าพอเราไปเที่ยวเองด้วยสายตาของคนธรรมดามันรู้สึกสนุกจังเลย เราได้พบเจอเจอประสบการณ์ที่วิเศษ ก็เลยคิดว่าอยากจะนำเสนอเรื่องนี้ออกไปให้คนอื่นได้เห็นได้ฟัง
แล้วพอมันจะได้เป็นรายการโทรทัศน์แล้วเราก็เลยคิดว่ามันควรจะเป็นอะไรได้มากกว่ารายการท่องเที่ยว มันเลยมีเรื่องของการตั้งคำถามกับสังคม เรื่องของการไปดูระบบสาธารณูประโภคในประเทศเขา รถไฟ รถเมล์เป็นยังไง การกินอยู่เป็นยังไง เพราะเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เวลาไปเที่ยวก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้แหละแต่ว่าพอมันเป็นรูปแบบรายการโทรทัศน์อ่ะเราจะคิดว่ามันไม่สามารถเป็นรายการโทรทัศน์ได้เท่านั้นเอง พอพี่มีโอกาสเล่าในฟอร์มนี้พี่ก็หาวิธีผสมกลไกในการเล่าให้มันได้ทั้งเที่ยวด้วย ตั้งคำถามกับสังคมด้วย และก็เอานวัฒกรรมอะไรที่เราคิดว่าคนไทยทำได้แต่ยังไม่ได้ทำ เอากลับมาให้คนไทยได้ดูและตั้งคำถาม
เรียกว่าเป็นรูปแบบรายการที่แปลกใหม่และเป็นส่วนน้อยที่จะมีคนทำ ?
บอล : เราคิดว่ามันอาจจะเป็นเพราะว่าฟอร์มของรายการท่องเที่ยวในยุคก่อนตอนที่หนังพาไปมันยังไม่มีมันออกมาเป็นแพทเทิลคล้ายๆ กัน ไม่มีใครคิดว่ารายการท่องเที่ยวจะทำหรือนำเสนอสิ่งเหล่านี้ได้ในรายการ มันต่างจากรายการท่องเที่ยวทั่วไป พอได้มาทำแล้วก็เลยรู้สึกว่าการลองผสมดู ลองมั่วดูบ้าง ลองผิดลองถูก มันก็บังเอิญเกิดเป็นฟอร์มที่ค่อนข้างผสมกันได้เลยทำให้เกิดรายการของเราได้
มีวิธีเลือกหรือตัดสินใจอย่างไรกับการที่จะเดินทางไปถ่ายทำในประเทศนั้น ๆ ?
ยอด : แรก ๆ เลยนะ คือตั้งแต่ที่เราเอาหนังไปประกวด มันก็ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนเค้าจะตอบรับแล้วเรา แล้วก็ค่อยหาทุนเพื่อจะไปที่ประเทศนั้น เพราะฉะนั้นเกณฑ์ในการเลือกเนี่ยก็คือ เราเลือกที่จะส่งไปประเทศไหนมากกว่า เลือกส่งหนังไปประกวดที่ประเทศไหนบ้าง ถ้าเค้าตอบรับหรือเชิญเรามาเราถึงได้ไปประเทศนั้นมันก็เหมือนจะเลือกไม่ค่อยได้แหละ นอกจากว่าจะได้ผ่านเข้ารอบแล้วก็ค่อยมาหาทุนอีกทีอันนั้นคือช่วงแรก ๆ นะช่วงหลัง ๆ นี้ก็รู้สึกว่าไม่ได้ทำหนังแล้วก็จะเลือกจากตั๋วโปรโมชั่น ตรงนี้มีตั๋วโปรโมชั่นไหม เพราะว่าเดี๋ยวนี้สายการบินมันถูกลงเยอะ โลวคอสนี่มาหลังรายการเราอีกนะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยเลือกจากปัจจัยนี่แหละ ว่าเออ อยากไปเที่ยวประเทศไหน โอ๊ะมีตั๋วโปรตรงนี้อยู่ก็ได้ อะไรอย่างเงี้ย
ความรู้สึกที่รายการออกฉายครั้งแรกรู้สึกยังไงกันบ้าง ?
บอล : ตอนนั้นย้อนไปประมาณ 5 ปีตอนนั้นรู้สึกกลัวว่าผู้ชมจะรับได้ไหมในวิธีการเล่าเรื่องในแบบของเรา เพราะว่ามันแทบจะต่างไปจากกฎเกณฑ์ปกติในยุคนั้นหมดเลยเพราะว่าพิธีกรก็เป็นใครก็ไม่รู้ หน้าตาก็ ฮ่าๆ หน้าตาก็ดี ดีในแบบนี้ที่คนจะไม่ค่อยคุ้น และก็ด้วยวิธีการเล่าเรื่องมันไม่มีฟอร์มว่า พูดจาก็ไม่ได้เพราะมาก เพราะมันเป็นการสนทนากันเองไม่ได้สนทนากับคนดู ฟอร์มพวกนี้มันก็ผิดหมดเลย ตอนนั้นก็รู้สึกว่าก็ค่อนข้างกังวลแต่ก็ค่อนข้างมั่นใจในตัวงานตัวเองว่ามันมีคุณค่าพอดูแล้วเรารู้สึกว่า ถ้าในฐานะคนดูคนนึงเนี่ยเราชอบ เราชอบแบบนี้เราอยากดูรายการแบบนี้แต่ตอนนั้นกลัว ซึ่งเทปแรก ๆ ที่ออกอากาศไปความกลัวก็สัมฤทธิ์ผลจริง ๆ เพราะว่ามีกระแสลบออกมาค่อนข้างเยอะเหมือนกันนะ เทปแรก ๆ คนไม่คุ้นกับรูปแบบรายการแบบนี้ มาบ่น อะไร คุณจะไปทำอะไร แต่พอรายการมันผ่านไปถึงเทปที่ 4 เทปที่ 5 คนดูก็จะเริ่มเข้าใจและว่าเราเล่าแบบไหนหรือไม่คนที่ไม่ชอบก็เลิกดูไปเลย
ผลิตออกมาในรูปแบบรายการแล้วเคยคิดอยากจะทำหนังสือท่องเที่ยวเป็นของตัวเองไหม ?
ยอด : อ่านหนังสือ ยังไม่อ่านเลย อย่าคิดว่าจะเขียนหนังสือได้ ฮ่าๆ แล้วก็ไม่ได้มีความตั้งใจอยากจะทำหนังสือ นอกจากว่าจะมีแรงขับดันอะไรบางอย่าง
บอล : การทำหนังสือก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างครับ เพราะว่าถ้าทำ คิดว่ามันเป็นทักษะที่ยาก ต้องศึกษาอีกเยอะ
หลังจากนี้ สมมติว่าทั้งสองไม่ได้ทำรายการแล้วอยากทำอะไรกันต่อคะ ?
ยอด : ตกงาน ขายก๋วยเตี๋ยว ขายก๋วยเตี๋ยวรวยกว่าทำรายการอีกนะ
บอล : ภาษีก็ไม่ต้องเสียนะ ฮ่าๆ
ที่สุดแล้ว จุดหมายปลายทาง อาจไม่ใช่ที่สุดของการเดินทาง แต่ประสบการณ์สิ่งที่พบเจอระหว่างทางต่างหากที่อาจกลายมาเป็นจุดหมายหรือสิ่งที่เราตามหา การเดินทางของแต่ละคนมีตัวชี้วัดความสุขที่แตกต่างกัน บางครั้งการลองไปแบบสบายๆ ปล่อยตัวไปตามบริบทรอบข้าง และเรียนรู้กับสิ่งที่ได้พบเจอ สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ให้ความสุขกับคุณมากกว่าการเดินทางครั้งไหนก็เป็นได้
สุดท้ายนี้้ติดตามข่าวสาร “หนังพาไป” ได้ที่
Fanpage : หนังพาไป